ระบบกันซึมแบบไหน ช่วยบ้านคุณได้

น้ำยากันซึมและกาวยาแนว

ระบบกันซึม

ระบบกันซึมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการก่อสร้าง เพราะมีความสำคัญในการช่วยปกป้องความร้อนและการรั่วซึมของน้ำในบริเวณเกี่ยวข้องกับน้ำ ทั้งจากภายนอกและภายในอาคาร ตั้งแต่ชั้นใต้ดินไปจนถึงดาดฟ้า

โดยปัญหาใหญ่ที่มักจะเจอจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานหรือช่างไม่มีฝีมือนั้น คือฝ้าเพดานรั่ว หรือการรั่วซึมของหลังคา ซึ่งเกิดจากการใช้ระบบกันซึมไม่ถูกต้อง และทำให้คุณต้องเสียเงินและเวลาในการซ่อมแซม

วันนี้เราจะพามารู้จักกับระบบกันซึมที่ใช้กันในปัจจุบัน ว่าแต่ละแบบนั้นเหมาะสมกับการใช้งานแบบไหน เพื่อคุณจะได้เลือกใช้ได้อย่างถูกต้อง ป้องกันการรั่วซึมได้อย่างถูกวิธี และไม่พบเจอปัญหาหนักใจตามมา

ระบบกันซึมนั้นสามารถแบ่งได้ใหญ่ๆเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1.กันซึมแบบผสมคอนกรีต

ใช้เพื่อเป็นโครงสร้างหรือนำมาฉาบผิวเพื่อกันซึม เป็นการนำสารเคมีประเภท Crystalline มาผสมรวมกับคอนกรีต ทำให้เกิดเป็นผลึกขนาดเล็ก ซึ่งมีคุณสมบัติในการอุดช่องว่าง แทรกซึมตามรอยรั่วต่างๆได้เป็นอย่างดี ตัวคอนกรีตจะทึบน้ำจนน้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ สามารถนำไปใช้ผสมกับคอนกรีตก่อนเท หรือใช้ในการฉาบ พ่นที่ผิวคอนกรีตก็ได้

ซึ่งสิ่งนี้จะต่างจาก “คอนกรีตผสมน้ำยากันซึม” ซึ่งเป็นการใช้สารเคมีที่ช่วยลดน้ำในคอนกรีต ทำให้คอนกรีตหนาแน่นขึ้น แต่ไม่สามารถป้องกันการรั่วซึมได้จริง

น้ำยากันซึมแบบผสมคอนกรีตนี้ นอกจากจะใช้งานง่าย และสะดวกแล้ว ยังหาซื้อได้ง่าย ราคาถูก และมีความคุ้มค่าในเรื่องราคามากกว่าแบบอื่นอีกด้วย แต่มีข้อเสียคือ ไม่สามารถนำไปใช้ร่วมกับพื้นผิวแบบอื่น เช่น โลหะ กระเบื้อง ได้ และเป็นสารเคมีที่ใสไม่มีสี จึงอาจจะตรวจสอบได้ยากว่ามีการผสมในปริมาณที่ถูกต้องหรือไม่ หรือได้ทำการผสมไปเรียบร้อยแล้วหรือยัง

2.กันซึมแบบเหลว

เป็นของเหลวที่นำมาใช้ในการทา ฉาบผิว หรือฉีดพ่น ช่วยป้องกันไม่ให้คอนกรีตมีความชื้น ป้องกันความร้อน และป้องกันการรั่วซึม

ระบบกันซึม

มีด้วยกันหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นแบบ

  • Cement base เช่น กันซึมเซรามิค ที่มีความสามารถในการต้านทานความร้อนสูง เหมาะกับการใช้สำหรับดาดฟ้า ราคาไม่สูง และไม่เป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เป็นที่นิยมอย่างมาก
  • Water base สามารถใช้ได้ทั้งภายนอกและภายในอาคาร ทนต่อการขังของน้ำได้ดี
  • Solvent base ใช้เคลือบเพื่อความเงางาม ป้องกันเชื้อราและตะไคร่น้ำได้ เป็นน้ำยาเคลือบใส ไม่มีสี ไม่สามารถต้านทานความร้อนได้มาก จึงมักถูกใช้กับพื้นผิวภายในอาคาร
  • แบบที่มีความยืดหยุ่นสูง เช่น โพลียูรีเทนกันซึม เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก มีความยืดหยุ่น ช่วยรองรับและปกปิดรอยร้าวได้เป็นอย่างดี ทำให้น้ำไม่สามารถซึมไหลผ่านได้ เหมาะกับดาดฟ้า หรือคอนกรีตที่มีความยืดหดตัวอยู่เสมอ, อะคริลิคกันซึม แข็งแรงและป้องกันรอยแตกร้าวได้ดี, และกันซึมเพียวโพลียูเรีย เหมาะกับการใช้สำหรับแท้งค์น้ำ แต่มีราคาสูงมาก

เป็นกันซึมที่ใช้งานได้ง่าย แห้งเร็ว ทนทานต่อสารเคมี สามารถใช้งานได้กับพื้นผิวหลายชนิด และมีประสิทธิภาพสูงกว่ากันซึมแบบผสมคอนกรีต มีข้อเสียคือราคาสูงกว่า และจะต้องใช้งานเมื่อพื้นผิวแห้งสนิทเท่านั้น แต่ถือว่าเป็นกันซึมที่ตอบโจทย์การใช้งานและมีคุณภาพมากที่สุด

3.กันซึมแบบแผ่น

เป็นกันซึมที่พบเห็นได้บ่อย มีลักษณะเป็นแผ่นพลาสติกกันซึมที่สามารถนำมาติดตั้งลงบนพื้นผิวด้วยกาวร้อน หรือหมุด ช่วยปกปิดกันซึม กันรอยแตกทั้งบนฝ้า ดาดฟ้า หรือพื้น โดยทำมาจากวัสดุหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น พีวีซี บิทูเทน หรือโพลีเทน ขึ้นอยู่กับลักษณะที่คุณต้องการนำไปใช้

ใช้งานได้ง่าย ได้ความหนาของระบบกันซึมที่เท่ากันทั้งหมด มีหลายสีสันให้เลือกใช้ สามารถตรวจสอบความเรียบร้อยได้ และมีความแข็งแรง ยืดหยุ่นสูง

แต่หากติดตั้งได้ไม่ดีพอ เกิดรอยต่อระหว่างแผ่นกันซึม จะทำให้รั่วซึมได้ง่าย โดยเฉพาะอาคารที่มีเหลี่ยมมุมมากๆ  จำเป็นต้องใช้ช่างที่มีฝีมือในการติดตั้ง อีกทั้งกันซึมแบบแผ่นนั้นมักจะไม่ทนทานต่อความร้อน หากได้รับความร้อนมากอาจทำให้แผ่นหลุดลอกและโป่งพองได้ บางชนิดง่ายต่อการติดไฟจึงมีความเสี่ยงในการเกิดเหตุไฟไหม้ได้อีกด้วย

ระบบกันซึมที่กล่าวมาทั้ง 3 ประเภทนั้นเป็นกันซึมที่มีการใช้งานกันทั่วไป ซึ่งมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป คุณจึงควรเลือกระบบกันซึมที่ถูกต้องและเหมาะสมกับการใช้งาน โดยปัญหาในเรื่องระบบกันซึมนั้นมักไม่ได้เกิดจากคุณภาพของสินค้า แต่มักเกิดจากการเตรียมพื้นผิวที่ไม่ดี รวมไปถึงปัญหาด้านฝีมือและความประณีตของช่าง

ดังนั้นนอกจากจะเลือกหาสินค้าที่เหมาะสมกับการใช้งานแล้ว ควรเลือกช่างผู้ติดตั้งที่มีประสบการณ์ และเชื่อถือได้ เพื่อระบบกันซึมที่คงทน ไม่ต้องซ่อมแซมบ่อย มีอายุการใช้งานยาวนาน และไม่ก่อให้เกิดปัญหาการรั่วซึมกับอาคารของคุณ